Top Ad unit 728 × 90

โครงการอุดรโปแตซ
recent

รายละเอียดข้อมูลโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี

ที่ตั้งและขอบเขตของพื้นที่ที่จะใช้ทำเหมืองและกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง (ระบุโดยสังเขป)

โครงการทำเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งรัฐบาลถือหุ้น 10 % และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยถือหุ้น 90 % โดยมีพื้นที่คำขอประทานบัตร จำนวน 4 แปลง ตั้งอยู่ในเขตบางส่วนของตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ และตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี กับเขตบางส่วนของตำบลนาม่วง ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีเนื้อที่คำขอประทานบัตรรวมทั้งหมดประมาณ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา ลักษณะภูมิประเทศบริเวณพื้นที่โครงการโดยทั่วไปเป็นที่ราบ จากการสำรวจแหล่งแร่โพแทชในพื้นที่โครงการ พบว่ามีปริมาณแร่สำรองประมาณ 270 ล้านตันวางตัวในแนวค่อนข้างราบที่ความลึกจากผิวดินเฉลี่ยประมาณ 350 เมตร โดยมีความหนาของชั้นแร่เฉลี่ย 3.5 เมตร และมีความสมบูรณ์เฉลี่ยประมาณร้อยละ 22 - 23 ถือเป็นแหล่งแร่โพแทชที่มีคุณภาพที่ดีแหล่งหนึ่งของโลก ระยะการก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 2 ปี ระยะเวลาการทำเหมือง 21 ปี  และระยะการปิดเหมืองและฟื้นฟูสภาพเหมือง 2 ปี รวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมด 25 ปี
ภาพการออกแบบพื้นที่บริเวณโรงแต่งแร่
ปัจจุบันรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญฯ ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557 หลังจากที่บริษัทฯ ดำเนินการตามขั้นตอนการขอประทานบัตรและรับฟังความคิดเห็นครบทุกขั้นตอนแล้ว เรื่องทั้งหมดจะถูกส่งไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาในการออกใบประทานบัตร

วิธีการทำเหมือง (ระบุโดยสังเขป)

วิธีการทำเหมือง ใช้วิธีการทำเหมืองใต้ดิน แบบห้องสลับเสาค้ำยันโดยจะมีช่องทางเข้าสู่เหมืองใต้ดินเป็นอุโมงค์ลาดคู่ขนานโดยอุโมงค์หนึ่งใช้สำหรับงานบริการ การขนส่งพนักงานและวัสดุ รวมทั้งการระบายอากาศเข้า ส่วนอุโมงค์สองจะใช้สำหรับการผลิต โดยจะติดตั้งระบบสายพานลำเลียงแร่ที่ได้จากการขุด สายไฟฟ้า และสายโทรศัพท์ การขนวัสดุถมกลับ และการระบายอากาศออก จากข้อมูลการศึกษาในส่วนของการทำเหมืองแร่โพแทชทั่วโลก ที่มีลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่คล้ายกับพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จะใช้วิธีการทำเหมืองใต้ดิน แบบห้องสลับเสาค้ำยัน เพราะเป็นวิธีการทำเหมืองแร่ที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับเปลี่ยนการทำเหมืองได้ตามสภาพธรณีวิทยา และสามารถควบคุมการทรุดของผิวดินได้ผลดีกว่าการทำเหมืองวิธีอื่นๆ
การออกแบบเหมืองแบบห้องสลับเสาค้ำยัน

การทำเหมืองใต้ดิน แบบห้องสลับเสาค้ำยันนั้น โครงการได้เลือกใช้เครื่องขุดแร่แบบต่อเนื่องขุดแร่ออกมาเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเหลือบางส่วนไว้เป็นเสาค้ำยันให้เหมืองมีความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ยังจะมีการเสริมความมั่นคงแข็งแรงบริเวณเพดานของห้องเหมืองด้วยเหล็กยึดหิน และมีการนำหางแร่มาถมกลับในช่องว่างให้เหมืองมีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

แร่โพแทชที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดินจะเป็นแร่ดิบซึ่งยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ต้องผ่านกระบวนการแต่งแร่ คือ การแยกหัวแร่โพแทชออกจากสิ่งเจือปนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกลือแกง โดยโครงการเลือกใช้การแต่งแร่ด้วยวิธีลอยแร่ คือ เริ่มจากการใช้เครื่องบดแร่ให้มีขนาดเล็กลง แล้วผ่านเครื่องลอยแร่  ซึ่งจะใช้น้ำเกลือมาทำการละลายแร่ กวนให้เกิดฟองอากาศเติมสารละลายให้แร่โพแทชติดฟองอากาศลอยขึ้นมาด้านบน ส่วนหางแร่หรือสิ่งที่ไม่ต้องการจะจมอยู่ด้านล่าง หลังจากนั้นหัวแร่ที่ได้จากการลอยแร่จะถูกทำให้แห้งโดยเครื่องปั่นแห้งและเครื่องอบแห้ง หัวแร่อีกส่วนหนึ่งได้จากกระบวนการตกผลึกแร่โพแทช ซึ่งเป็นการนำเอาน้ำเกลือที่ผ่านกระบวนการลอยแร่ ซึ่งมีผงแร่โพแทชขนาดละเอียดหลงเหลือปะปนอยู่ นำมาเข้าเครื่องตกผลึก แร่ที่หลงเหลืออยู่จะตกผลึกเป็นหัวแร่ และจะถูกนำไปรวมกับหัวแร่จากกระบวนการลอยแร่ ซึ่งกระบวนการแต่งแร่ดังกล่าวจะดำเนินการในโรงแต่งแร่บนผิวดินที่โครงการได้ซื้อไว้บนเนื้อที่ 1,681 ไร่ ในเขตตำบลหนองไผ่
กระบวนการแต่งแร่

กระบวนการแต่งแร่ทั้งสองวิธีนี้สามารถเก็บแร่หัวแร่โพแทชได้มากกว่า 90 % ส่วนหางแร่ที่เกิด ขึ้นประกอบด้วยเกลือแกงเป็นส่วนใหญ่ และมีสิ่งเจือปนอื่นๆ เช่น เศษดิน เศษหิน จำนวนเล็กน้อย ซึ่งจะถูกนำมาผสมกับน้ำเกลือเข้มข้นอย่างละ 50% และถูกถมกลับในลักษณะของเหลวข้นซึ่งจะจับตัวกันแข็งในเวลาต่อมา ในระยะแรกของการทำเหมืองบริษัทจะเก็บกองหางแร่ไว้ชั่วคราวในพื้นที่โรงแต่งแร่บนผิวดินเนื่องจากยังไม่มีช่องว่างใต้ดินที่เพียงพอต่อการถมกลับ และในปีที่ 5 ของการทำเหมือง หางแร่จะถูกทยอยถมกลับลงไปใต้ดินจนหมดสิ้นในปีสุดท้าย

การใช้แหล่งทรัพยากรและสาธารณูปโภคร่วมกับท้องถิ่น เช่น แหล่งน้ำ ถนน ไฟฟ้า ฯลฯ (ระบุโดยสังเขป)

แหล่งน้ำ
- โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีจะไม่มีการนำน้ำใต้ดินมาใช้ทั้งในช่วงก่อสร้างและช่วงดำเนินการแต่อย่างใดและจะไม่รบกวนการใช้น้ำของชุมชน ตลอดจนแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้เคียง เช่น หนองนาตาล
- โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี จะสร้างบ่อเก็บน้ำดิบไว้ใช้ในโครงการ โดยออกแบบให้กักเก็บได้เพียงพอต่อความต้องการ และให้มีปริมาณน้ำสำรองสำหรับช่วงฝนแล้งด้วย การออกแบบเป็นบ่อขนาดใหญ่ จำนวนหลายบ่อ มีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้มากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร การออกแบบให้มีจำนวนหลายบ่อทำให้การควบคุมบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
- มีการบริหารจัดการน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยใช้หลักการหมุนเวียนน้ำใช้ น้ำเกลือที่ผ่านกระบวนการผลิตจะถูกสูบหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนน้ำเกลือที่ใช้ในกระบวนการถมกลับหางแร่ก็จะถูกสูบหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่เช่นกัน
- มีระบบร่องดักน้ำ และคันดิน โดยรอบพื้นที่โรงงาน เพื่อป้องกันและรวบรวมน้ำฝนที่ตกในโรงงานให้ไหลลงสู่บ่อเก็บน้ำ ไม่ให้ไหลออกนอกพื้นที่โครงการ

แหล่งพลังงาน
- โครงการจะใช้แหล่งพลังงานระบบไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไม่เป็นแหล่งก่อเกิดผลกระทบใดๆ ด้านสิ่งแวดล้อม


ระบบคมนาคม
- การขนส่งทางรถยนต์ จะใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (มิตรภาพ)
- การขนส่งทางรถไฟ จะทำทางรถไฟ เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้สถานีรถไฟหนองตะไก้ เพื่อการขนส่ง

ผลดี ผลเสีย จากการดำเนินโครงการ (ระบุโดยสังเขป)

ผลดี
- รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับค่าภาคหลวง โดยสัดส่วนที่แต่ละฝ่ายจะได้รับ คือ รัฐบาล 40%, องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี 20%, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตประทานบัตร 20%, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ในอุดรธานี 10%, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศ 10%
- แร่โพแทช เป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช โดยเป็นแม่ปุ๋ย 1 ใน 3 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ธาตุโพแทสเซียมจึงเป็นแม่ปุ๋ยที่สำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย ในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านอาหาร การเกษตร และการปลูกพืชพลังงานทดแทน นอกจากนี้ สภาพวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังคงอาศัยภาคการเกษตรเป็นหลัก ดังนั้น หากประเทศไทยจะสามารถผลิตแม่ปุ๋ยโพแทชได้เอง จากปัจจุบันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านปัจจัยการผลิตของภาคการเกษตร และช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง
- เกิดการสร้างงานในพื้นที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสได้ทำงานในโครงการระดับประเทศ ได้รับรายได้และสวัสดิการที่ดี และได้ทำงานอยู่ใกล้บ้าน โดยในช่วงการก่อสร้าง 2 ปีแรกจะมีการจ้างแรงงานประมาณ 1,300 อัตรา

- เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ จากการที่ประเทศไทยสามารถลดการสูญเสียเงินตราในการนำเข้าโพแทชจากต่างประเทศ อีกทั้งยังจะมีรายได้จากการส่งออกแม่ปุ๋ยโพแทช และเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ การเติบโตของธุรกิจบริการ การเกษตร และอุตสาหกรรมในท้องถิ่น
นอกจากนี้ ค่าภาคหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับจากโครงการ รวมทั้งกองทุนต่างๆที่โครงการจะจัดตั้งขึ้น จะช่วยให้ท้องถิ่นมีงบประมาณในการพัฒนาสาธารณูปโภค ยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาอาชีพของคนในชุมชนได้

ข้อกังวลต่างๆ (ผลเสีย)

- ความกังวลเรื่องดิน เช่น การใช้ประโยชน์ผิวดิน ดินทรุด ดินเค็ม
- ความกังวลเรื่องน้ำ เช่น การแย่งน้ำใช้ของชุมชน การใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ  เช่น หนองนาตาล การปล่อยน้ำเกลือออกสู่ภายนอก
- ความกังวลเรื่องอากาศ เช่น การกระจายของฝุ่นเกลือจากกองเกลือ
- การเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีทัศนคติต่อโครงการที่แตกต่างกัน อาจจะสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ และก่อให้เกิดความแตกแยกให้กับคนในชุมชน

วิธีการป้องกันผลกระทบ (ระบุโดยสังเขป)

- การใช้ประโยชน์ผิวดิน เนื่องจากเป็นวิธีการทำเหมืองใต้ดิน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ผิวดิน

- การป้องกันการทรุดตัวของผิวดิน การออกแบบและใช้วิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน ทำให้เหมืองใต้ดินมีเสถียรภาพ การเสริมความมั่นคงแข็งแรงบริเวณเพดานของห้องเหมืองด้วยเหล็กยึดหิน การนำหางแร่มาถมกลับในช่องว่างทำให้เหมืองมีความแข็งแรงมั่นคงมากยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพในการควบคุมการทรุดตัวของผิวดินให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดอันตรายต่อระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งสิ่งก่อสร้าง บ้านเรือนของประชาชนและ ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน และน้ำทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน

- การบริหารจัดการน้ำเกลือ โดยบ่อน้ำเกลือ จะถูกปูพื้นด้วยพลาสติกอย่างหนาชนิดพิเศษ (HDPE) 2 ชั้น ไม่ให้น้ำเกลือซึมลงใต้ดิน และจะมีระบบตรวจสอบการรั่วซึม, บ่อน้ำเกลือจะมีหลังคาปกคลุมเพื่อลดการระเหยของน้ำเกลือ และป้องกันน้ำฝนไม่ให้รวมกับน้ำเกลือในบ่อ, การขุดร่องดักน้ำและคันดินรอบพื้นที่โรงงาน เพื่อให้น้ำฝนที่ตกในโรงงานไหลลงสู่บ่อเก็บน้ำ ไม่ไหลออกไปภายนอกพื้นที่โครงการ, มีการบริหารจัดการน้ำใช้ แบบหมุนเวียน น้ำเกลือจากกระบวนการผลิต จะถูกหมุนเวียนใช้ในกระบวนการ และน้ำเกลือที่ใช้ในการถมกลับหางแร่ก็จะมีการหมุนเวียนใช้เช่นกัน

- การบริหารจัดการการใช้น้ำ โครงการจะขุดบ่อน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำใช้ในระบบ รวมทั้งการขุดร่องดักน้ำและคันดินรอบพื้นที่โรงงาน เพื่อให้น้ำฝนที่ตกในโรงงานไหลลงสู่บ่อเก็บน้ำ ไม่ไหลออกไปภายนอกพื้นที่โครงการ และจะไม่มีการใช้น้ำจากหนองนาตาล หรือน้ำบาดาลในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด ส่วนน้ำอุปโภคบริโภคในสำนักงาน จะเป็นระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาค

-  การบริหารจัดการฝุ่น กระบวนการผลิตที่อาจจะทำให้เกิดฝุ่น จะติดตั้งสิ่งปกคลุมลดการกระจายของฝุ่น, การติดตั้งระบบดักเก็บฝุ่นละอองด้วยถุงกรองฝุ่นความละเอียดสูง รวมถึงการปลูกต้นไม้เชิงสูงรอบพื้นที่โรงการเพื่อเป็นแนวกันฝุ่นและเสียง
-  การบริหารจัดการกองหางแร่ หางแร่ถูกออกแบบให้มีการกองแบบขั้นบันไดจำนวน 6 ชั้นๆ ละ 4.5 เมตรโดยกองหางแร่จะมีมีความสูงไม่เกิน 27 เมตร พื้นที่สำหรับกองหางแร่จะปูพื้นด้วยพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีน ที่มีความหนาแน่นสูง(HDPE) ไม่ให้น้ำเกลือซึมลงใต้ดิน และจะมีระบบตรวจสอบการรั่วซึม และการนำกองหางแร่ถมกลับลงไปในช่องว่างของเหมืองใต้ดิน

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากโครงการอุดรโพแทช (ประมาณการ)

                นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในโครงการอุดรโพแทชกว่า 11,700 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างโดยตรงประมาณ 1,100 1,300 อัตรา และการจ้างงานโดยอ้อมประมาณ 4,500 อัตรา และในช่วงของการดำเนินการเมื่อได้รับอนุญาตประทานบัตรนั้น จะต้องมีการตั้งกองทุนบริหารความเสี่ยง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินทรุดเนื่องจากการทำเหมือง รวม 500 ล้านบาทตลอดอายุประทานบัตร
** หมายเหตุ **

1.ค่าภาคหลวงแร่โพแทช กฎหมายกำหนดพิกัดค่าภาคหลวงแร่ในอัตรา 7 % ของราคาหน้าเหมือง
2.การประมาณการภาษีค่าภาคหลวงแร่จะขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และราคาแร่โพแทชสากลในขณะนั้นๆ ในที่นี้ได้ประมาณการคำนวณเป็นสังเขป กรณีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐอเมริกา และราคาแร่โพแทชตันละ 400 เหรียญสหรัฐอเมริกา
3.สัดส่วนภาษีค่าภาคหลวงแร่โพแทชในภาพรวม จะเป็นรายได้ของรัฐส่วนกลาง 40 %, ตกสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ 10 % และตกสู่จังหวัดอุดรธานีทั้งหมด 50 %

กองทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอุดรโพแทช ( รวมทั้งสิ้นประมาณ 5,011 ล้านบาท )

1.กองทุนที่สนับสนุนให้รัฐและชุมชนตามกฎหมาย  ( รวม 1,911 ล้านบาท )
                        1.1 กองทุนสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ( 15 ล้านบาท )
                        1.2 กองทุนสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบของตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย ( 50 ล้านบาท )
1.3 กองทุนฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมือง ( 1,846 ล้านบาท )

2.กองทุนและงบประมาณที่โครงการมอบให้ชุมชนโดยสมัครใจ ( รวม 3,100 ล้านบาท )
                        2.1 กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ ( 100 ล้านบาท )
                        2.2 กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ ( 300 ล้านบาท )
                        2.3 ค่าตอบแทนพิเศษแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตร ( 1,200 ล้านบาท )
                        2.4 เงินช่วยเหลือครัวเรือนในพื้นที่ประทานบัตร ( 1,040 ล้านบาท )
                        2.5 กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ( 100 ล้านบาท )
                        2.6 กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน ( 60 ล้านบาท )
                        2.7 กองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยให้เกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร ( 100 ล้านบาท )
                        2.8 กองทุนสวัสดิการชุมชน ( 200 ล้านบาท )
                       




รายละเอียดข้อมูลโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี Reviewed by โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี on 01:52:00 Rating: 5

1 ความคิดเห็น:

  1. เชื่อว่าน่าจะเป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์ต่อประเทศ ตลอดจนท้องถิ่นจะได้รับ สิ่งตอบแทนที่ดี กลับมาให้ลูกหลาน อย่างไรก็ตาม ชุมชนควรจะได้เข้ามามีส่วนร่วม ในหลายๆมิติ ของธุรกิจนี้

    ตอบลบ

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

ขับเคลื่อนโดย Blogger.