Top Ad unit 728 × 90

โครงการอุดรโปแตซ
recent

มาตรการติดตามตรวจสอบการทรุดตัวของผิวดิน


เนื่องจากหินมีคุณสมบัติยืดหยุ่น (Rock Elasticity) ประกอบกับการออกแบบของเสาหินและห้องสลับเสาหินแบบยึดความปลอดภัยเป็นหลัก ทำให้โครงสร้างหินในโครงการเกิดการทรุดตัวได้โดยไม่แตกหักแม้จะมีการทรุดตัวของพื้นดิน 40-60 เซนติเมตร โดยจะทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ต่อสิ่งปลูกสร้างพื้นดินและการทรุดตัวของพื้นดินไม่ได้เกิดทันทีทันใดแต่ค่อยๆ เกิดทีละน้อยตามสภาพการเดินของหน้าเหมือง แต่ในการทำเหมืองจริงเมื่อดำเนินไปจนถึงปีที่ 25 การทรุดตัวของพื้นดินจะเกิดขึ้นสูงสุดไม่เกิน 40 เซนติเมตร ตามรูปที่ 1.1-4 และรูป 1.1-5 เนื่องจากโครงการได้กำหนดค่าเพื่อการออกแบบเหมืองใต้ดินเพื่อควบคุมให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดินได้สูงสุดไม่เกิน 40 เซนติเมตร ซึ่งระดับการทรุดตัวของพื้นดินดังกล่าวนี้จะไม่ส่งผลให้โครงสร้างหินเกิดการแตกหักอย่างแน่นอน 

การทรุดตัวของพื้นดินเกิดขึ้นสูงสุดไม่เกิน 40 เซนติเมตร ดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากการแตกหักของหิน แต่เป็นการแอ่นตัวของหินตามน้ำหนักหินชั้นบนที่กดทับชั้นแร่ซิลวิไนต์ชั้นล่างที่โครงการได้ทำแร่ออกไป โดยเหลือเสาหินไว้ค้ำยันโครงสร้าง การแอ่นตัวหรือทรุดตัวนี้ไม่ได้เกิดอย่างทันทีทันใด แต่เกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยตลอดระยะเวลาในการทำเหมืองใต้ดินจะเกิดขึ้นสูงสุดไม่เกิน 40 เซนติเมตร คือการยุบสะสมเมื่อถึงปีที่ 25 หลังจากการทำเหมืองแล้ว จึงไม่ทำให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ไม่ทำให้น้ำในห้วยหนองคลองบึงต้องเปลี่ยนทิศทางการไหลแต่อย่างใด เพื่อให้ล่วงรู้ได้ว่าความทรุดตัวจะเกิดเมื่อใด โครงการได้วางแผนติดตั้งเครื่องมือดังต่อไปนี้คือ

1. เครื่องมือวัดการทรุดตัวที่ผิวดิน (Piezometer) ใช้วัดระดับน้ำและวัดความดันจากความสูงของน้ำผิวดินระดับตื้น โดยโครงการมีบ่อสำรวจน้ำตื้นในบริเวณโครงการอยู่ (observation well) เป็นโครงข่าย ที่ได้บันทึกค่าความสูงของน้ำในบ่อไว้ทุกๆ เดือน น้ำอาจจะมีระดับสูงขึ้นหรือต่ำลงได้ตาม ฤดูกาล แต่ถ้าน้ำหายไปไม่มีเลยจะทำให้บ่งชี้ว่าโครงสร้างหินด้านล่างหินเกิดการทรุดตัวจนแตกหัก ทำให้น้ำผิวดินซึมหายไปได้
2. เครื่องมือวัดความเอียงของผิวดิน (Inclinometer) ณ.จุดที่ตั้งเครื่องมือนั้นๆ เครื่องมือนี้จะวางบนแท่นคอนกรีตที่ทำไว้ให้อยู่ในแนวราบก่อนการทำเหมือง เครื่องจะอ่านค่าได้มุม 90 องศาสำหรับแนวดิ่ง และ 0 องศาสำหรับแนวราบ หากทำเหมืองไปแล้วพื้นดินมีการยุบตัวเกิดความเอียง เครื่องจะอ่านเป็นมุมอื่น ทำให้ทราบได้ว่าพื้นดินมีการยุบตัวแล้ว
3. เครื่องมือวัดความทรุดตัวของเพดาน (Extensometer) ในเหมืองใต้ดิน หากทำเหมืองแล้ว โครงการจะติดตั้งเครื่องมือนี้ไว้ในเหมืองใต้ดิน ได้แก่ Extensometer ใช้วัดการเคลื่อนตัวของผนังอุโมงค์ หรือเพดานห้องที่ได้นำแร่ออกไปแล้ว ว่าเคลื่อนตัวเท่าไร ในแต่ละช่วงเวลาที่ทำการบันทึกค่า เหมืองทุกแห่งไม่ว่าเหมืองบนดินหรือใต้ดิน หากมีการทำเหมืองเอาแร่ออกไปแล้ว ที่ว่างอันเกิดจากการนำแร่ออกไปจะได้รับแรงกดดันจากหินรอบข้าง ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวไม่มากก็น้อย คล้ายกับการเดินบนสะพานข้ามคลอง แม้สะพานจะแข็งแรงหรือคนข้ามจะมีน้ำหนักน้อย สะพานนั้นก็ต้องแอ่นตัวอยู่ดี
4. เครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนของดิน (Micro seismic Detector ) Micro seismic Detector เป็นเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนของโครงสร้างหิน เมื่อหินนั้นมีความขัดตัวกันหรือมีความเคลื่อนตัวที่ไม่เท่ากัน จะเกิดคลื่นความสั่นสะเทือนขึ้น ธรรมดาแล้วคลื่นไซสมิคส์ (seismic) เกิดจากแผ่นดินไหว แต่คลื่นไซสมิคส์ขนาดเล็ก (micro seismic) เกิดจากกิจกรรมของการทำเหมือง เครื่องมือนี้จะถูกติดตั้งโดยใส่ในหลุมเจาะ เมื่อเกิดคลื่น seismic อุปกรณ์จะบันทึกข้อมูลไว้เพื่อแปลความหมายต่อไป

เครื่องมือที่โครงการฯ จะติดตั้งเพื่อวัดความทรุดตัวดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น โครงการฯจะติดตั้ง โดยตรวจวัดบริเวณพื้นที่ทำเหมืองของโครงการ และชุมชนโดยรอบทุกเดือนตลอดระยะเวลาเตรียมการ และระยะดำเนินการ ตลอดจนสิ้นสุดอายุประทานบัตร จำนวน 16 หลุม 

สิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคือแผนที่ทางโครงการได้กำหนดไว้ เพื่อรับรู้การทรุดตัวของโครงสร้างหินในเหมืองใต้ดินและเพื่อรับรู้การทรุดตัวของพื้นผิวดินข้างบนเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้ทราบระดับการทรุดตัวของพื้นดินซึ่งวิธีการวัดระดับการทรุดตัวของพื้นดิน ประกอบด้วย
1) การรังวัดค่าระดับพื้นที่เดิมด้วยกล้องวัดมุม( Theodolite Total Station)
2) การสร้างหมุดหลักฐาน (BM bench mark) โดยใช้หมุดอ้างอิงของทางราชการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ทรุดตัว
3) การกำหนดพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องรังวัดค่าระดับ 
  • พื้นที่ที่ต้องรังวัดค่าระดับไว้ก่อนทำเหมืองได้แก่ พื้นที่ในเขตประทานบัตรทั้งหมดทั้งที่จะได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวและไม่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวดังนี้ (รูปที่ 1.1-12) โดยทำการวัดค่าระดับคือวัดปีละ 1 ครั้ง 
  • พื้นที่ที่ต้องรังวัดได้แก่พื้นที่ที่โครงการได้กำหนดไว้เดิม 16 ตำแหน่ง และการศึกษาครั้งนี้ขอเสนอเพิ่มอีก 33 จุด รวมเป็น 49 จุด 
  • จุดที่จะทำการวัดในพื้นที่ต่างๆจะต้องหล่อคอนกรีตไว้เป็นรูปคล้ายกับหมุดหลักฐาน และการวัดทุกครั้งจะต้องทำการวัดที่จุดเดิมเสมอ 
  • การทำการรังวัดและการบันทึกข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบกับการทรุดตัวตามแผนของโครงการ เป็นหน้าที่ของช่างรังวัดของสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 (อุดรธานี) ที่ต้องทำงานร่วมกับคณะผู้ทำการตรวจสอบตาม พรบ. เหมืองแร่ใต้ดิน พ.ศ.2545 เหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ที่จะต้องจัดให้มีในการทำเหมือง
มาตรการติดตามตรวจสอบการทรุดตัวของผิวดิน Reviewed by โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี on 00:04:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

ขับเคลื่อนโดย Blogger.